อาหารทางการแพทย์

“อาหารเสริมทางการแพทย์” จริงๆ แล้วไม่มี มีแต่คำว่า “อาหารทางการแพทย์”

อาหารทางการแพทย์ จริงๆ คือ การเอาโปรตีน ไขมันจำเป็น คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลจำเป็น มาผสมรวมกัน โดยคำนวณจากสิ่งที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในแต่ละวัน ดังนั้นแปลว่า หากเราไม่สามารถทานอาหารปกติได้เลยสักคำเดียว ก็สามารถทานอาหารทางการแพทย์ทดแทนได้

การที่เป็นมะเร็งเอง ภาพที่เราเห็นผู้ป่วยผอมลงหรือว่ากล้ามเนื้อฝ่อลีบ เนื่องจากมีการเผาผลาญที่สูงขึ้น (Metabolism) ร่วมกับการเบื่ออาหาร ทำให้ทานอาหารได้น้อยลงโดยที่การเผาผลาญเพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าผู้ป่วยน้ำหนัก 50 กิโลกรัม
ในภาวะปกติเขาจะใช้โปรตีนประมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือจะต้องใช้โปรตีนประมาณ 50 กรัม ซึ่งเท่ากับอกไก่ประมาณ 2 ขีด

ถ้าหากเขาไม่สบาย ต้องรับยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง ก็อาจจะต้องใช้โปรตีนประมาณ 1.5 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็จะต้องใช้โปรตีนประมาณ 75 กรัม จากอกไก่ 2 ขีดก็จะเพิ่มเป็น 3 ขีด

ซึ่งในขณะที่รับการรักษาอาจจะทำให้เบื่ออาหาร ทำให้รับประทานอกไก่ได้แค่ 1.5 ขีด ดังนั้นการรับประทานอาหารทางการแพทย์เสริมเข้าไปก็เพื่อให้โปรตีนและพลังงานเพียงพอสำหรับการรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

ผู้ป่วยแบบไหนควรรับประทานอาหารทางการแพทย์?
ผู้ป่วยที่หมอแนะนำให้รับประทานอาหารทางการแพทย์ ข้อแรกเลย คือ ผู้ป่วยที่น้ำหนักลด หมอแนะนำว่าน้ำหนักไม่ควรลดเกิน 5-10% ถ้าหากเกิน 10% จะไม่ค่อยดีแล้ว ร่างกายจะสูญเสียปริมาณกล้ามเนื้อไปค่อนข้างเยอะ อ่อนแอลง และภูมิต้านทานจะต่ำลง ทำให้การติดเชื้อเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น รวมถึงทำให้การรักษาเป็นไปด้วยความยาก

จากการศึกษาเราพบว่าน้ำหนักกล้ามเนื้อที่หายไปจะสัมพันธ์กับการเสียชีวิตและอัตราการเกิดซ้ำของโรคในอัตราที่สูงขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยไม่ควรน้ำหนักลดในระหว่างที่รักษา เพราะว่าการที่น้ำหนักลดในระหว่างการรักษาจะเป็นน้ำหนักของกล้ามเนื้อที่ลดลง และจะสัมพันธ์กับการกลับมาเป็นซ้ำของโรค ดังนั้นต้องรักษาน้ำหนักให้ดีเท่าเดิมในช่วงก่อนและระหว่างการรักษา

แต่หลังการรักษาจบไปแล้วเราควรรักษาน้ำหนักที่เหมาะสม ซึ่งจะแตกต่างกับน้ำหนักระหว่างการรักษา เช่น ถ้าหากว่าคนไหนที่อ้วนก็ควรที่จะลดน้ำหนักหลังจากรักษาเสร็จ เพราะว่ามันเป็นการลดอัตราการเกิดซ้ำในการเป็นโรคได้ ดังนั้นในแต่ละช่วงของการรักษามันก็จะมีการดูแลเรื่องของโภชนาการที่แตกต่างกันไป คำแนะนำก็จะแตกต่างกันไป รวมถึงการออกกำลังกายและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันในแง่ของรายละเอียดเล็กน้อยด้วย

ผู้ป่วยมะเร็งปอดต้องรับประทานอาหารทางการแพทย์ทุกคนไหม?
อาหารทางการแพทย์ไม่ได้จำเป็นสำหรับผู้ป่วยทุกคน เพราะถึงแม้ว่าเป็นมะเร็ง แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถทานอาหารอย่างเพียงพอ (ดูง่ายๆ ว่าน้ำหนักเราคงที่) ก็ไม่จำเป็นต้องทานอาหารทางการแพทย์เพื่อเพิ่มเติม ถ้าหากว่าน้ำหนักดีและร่างกายสุขภาพแข็งแรงก็สามารถทานอาหารแบบคนปกติ ใช้ชีวิตแบบคนปกติได้

พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์
American Board Of Medical Oncology
ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวัฒโนสถ

#LungAndMe #BetterOutcomes
#มะเร็งปอด
#รักษามะเร็ง
#ชนิดมะเร็งปอด
#วินิฉัยมะเร็งปอด

- - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สามารถติดตาม LungAndMe ในช่องทางอื่นๆได้

Website : https://lungandme.com/
Line : https://lin.ee/lrchmuz
Facebook : http://facebook.com/lungandme/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCStAqq56HtPD6FDHIC8GFvw